ตอนนี้พี่ปลานีโม่กับพี่เต่าที่บึงฉวากมีชุดมาสคอตใหม่แล้ว! หลังจากนั่งเหงาหงอยรอเด็ก ๆ มาเที่ยวเยี่ยมชม ต่อไปนี้ไม่ต้องเหงาคนเดียว เพราะพลังแห่งโซเชี่ยลมันแรงจริง ๆ วันนี้เราเลยจะพาเพื่อน ๆ ปักหมุดชม 5 ไฮไลท์ของบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ พร้อมบอกรายละเอียดการเดินทางและค่าเข้า
บึงน้ำธรรมชาติสู่แหล่งเรียนรู้พันธุ์สัตว์ป่า
บึงฉวาก มีชื่อเต็มว่า บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ เป็นบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,700 ไร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรีประมาณ 64 กิโลเมตร เดิมทีเคยเป็นส่วนหนึ่งของสายน้ำท่าจีน เมื่อเวลาผ่านไปบวกกับการทับถมของตะกอนดินโคลน จึงทำให้ส่วนหนึ่งของแม่น้ำแยกตัวออกมาเป็นบึงรูปโค้งขนาดใหญ่กินพื้นที่อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดดสุพรรณบุรี และอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
โดยบึงฉวากเป็นบึงน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ได้รับการประกาศให้เป็นเขตคุ้มครองสัตว์ป่า รวมถึงได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีความสำคัญระดับชาติตามอนุสัญญาแรมซาร์ เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งด้านสายพันธุ์ของสัตว์และพืชน้ำ
พาไปเที่ยวบึงฉวาก กับ 5 จุดไฮไลท์ ที่เที่ยวสุพรรณบุรี
อุโมงค์ปลาน้ำจืด
อุโมงค์ปลาน้ำจืด คือตู้ปลาขนาดใหญ่ยาวประมาณ 8.5 เมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมปลาได้รอบตู้ และมีอุโมงค์ลอดใต้ตู้สามารถชมความเคลื่อนไหวของสัตว์น้ำในตู้จากอุโมงค์อย่างใกล้ชิด บอกได้เลยว่าเป็นอุโมงค์ปลาน้ำจืดแห่งแรกของเมืองไทยด้วย อยู่ที่อาคาร 2
อุโมงค์ปลาแนวเฉียง
ตั้งอยู่ในอาคาร 3 เป็นอาคารแรกที่จะสามารถเจอได้ก่อนเป็นที่แรก เรียกได้เป็นจุดต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งอุโมงค์ปลาแนวเฉียงนั้น เป็นบันไดเลื่อนยาวกว่า 75 เมตร ที่ค่อย ๆ เลื่อนผ่านลอดใต้อุโมงค์น้ำที่มองเห็นปะการังและฝูงปลาจำนวนมากแหวกว่าย
อุโมงค์ปลาฉลาม
อุโมงค์ปลาฉลาม อยู่ในอาคารที่ 3 เป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่กว้างที่สุดในเอเชีย ซึ่งเราจะได้พบกับฉลาม 4 สายพันธุ์ คือ ฉลามเสือดาว ฉลามพยาบาล ฉลามเสือทราย และ “ฉลามเลมอน” (Lemon Shark) พระเอกของที่นี่ ซึ่งมีที่เดียวในประเทศไทย
บ่อจระเข้
บ่อจระเข้ที่จำลองให้มีสภาพใกล้เคียงกับ ธรรมชาติมากที่สุด มีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ เป็นที่อยู่ของจระเข้สายพันธุ์ไทยราว 60 ตัว และไฮไลท์เด็ดคือจะมีการแสดงโชว์จระเข้ที่อึ้ง ทึ่ง เสียว จากนักแสดงผู้ช่ำชอง ในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รอบโชว์คือ 11.00 น. / 12.30 น. / 14.00 น. และ 15.30 น.
ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก
หรือที่เราเรียกกันว่า “สวนสัตว์บึงฉวาก” สร้างขึ้นในวโรกาสที่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ครองราชย์ครบ 50 ปี นอกจากที่นี่จะเป็นศูนย์ดูแลสัตว์ป่าของกลางทุกสภาพทั่วประเทศแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่าที่มีสัตว์หลากหลาย เช่น เสือโคร่ง ลิงอุรังอุตัง ยีราฟ กวางดาว ม้าลาย อูฐ นกเงือก นกกระตั้ว และสัตว์ป่าของกลางอื่น ๆ อีกร่วมกว่า 600 ตัว
อุทยานผักพื้นบ้านเพื่อการยังชีพเฉลิมพระเกียรติบึงฉวาก เป็นสถานที่ที่เป็นดังพิพิธภัณฑ์ผักพื้นบ้าน โดยมีพืชผักพื้นบ้านกว่า 500 ชนิด ปลูกรวมกันอยู่บนเกาะกลางบึง มีการจัดภูมิทัศน์เป็นสวนสวยงาม มีการจัดสวนสวยงามด้วยพืชผักพื้นบ้าน มีโรงปลูกพืชระบบระเหยน้ำ มีการสาธิตการปลูกพืชในลักษณะไม่ใช้ดินตลอดจนการสาธิต นอกจากนี้ยังมีจุดจำหน่ายพันธุ์ผักพื้นบ้านให้ผู้สนใจอีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติมของบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ
เปิดให้บริการ
วันที่ให้บริการ | เวลาให้บริการ |
วันจันทร์ – วันศุกร์ | 08.30 – 16.30 น. |
วันเสาร์ – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ | 08.30 – 17.00 น. |
ค่าเข้าชม
- ค่าเข้าชมอาคารหลังที่ 1 อาคารหลังที่ 2 ชมบ่อจระเข้ ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท
- ค่าเข้าชมอาคารหลังที่ 3 (สวรรค์แห่งโลกใต้ทะเล) ผู้ใหญ่ 150 บาท เด็ก 50 บาท
- ** อายุ 60 ปีขึ้นไป เข้าชมฟรี
การเดินทางไปบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ
รถยนต์ส่วนตัว
ระยะทางจากกรุงเทพ-บึงฉวาก ประมาณ 164 ก.ม. ใช้ถนนกรุงเทพ-สุพรรณ (ทางหลวงหมายเลข 340) พอถึงสามแยกไฟแดงเข้าตลาดท่าช้าง ให้ตรงไปทาง จ.ชัยนาท อีกประมาณ 8 ก.ม. จะมีป้ายและแยกซ้ายมือ ไปบึงฉวากอีกประมาณ 4 ก.ม.
ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลขับไปตามถนนตลิ่งชัน – สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340) ไปอำเภอเดิมบางนางบวช มีจุดเชื่อมต่อสองจุดจากทางแยก ก่อนเข้าตัวเมืองเดิมบางนางบวช เลี้ยวซ้ายเพื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ตรงไปจนถึงแยกตัวที อยู่ตรงข้ามคลองชลประทาน แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนน ที่ขนานกับคลองชลประทาน
โดยรถโดยสารประจำทาง
ใช้รถเส้นทางกรุงเทพ – สุพรรณ – ท่าช้าง โดยขึ้นจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) หรือสถานีขนส่งสายใต้ ไปลงที่ป้ายจอดสุดท้าย คือ ท่ารถตลาดท่าช้าง จากนั้นเหมารถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือรถยนต์
ใครเบื่อดูพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ ลองย้ายสถานที่ไปเที่ยวชมสัตว์ในที่อควาเรียมใกล้กรุงเทพฯ แทนได้ ไม่เพียงแค่ที่บึงฉวากเท่านั้น ยังมีอีกหลายที่ที่น่าสนใจ แล้วเราไปไหนดีจะมาแนะนำอีกในบทความหน้านะคะ